โบราณสถานสระมรกต


ระหว่างการขุดแต่งได้ค้นพบรอยพระพุทธบาทคู่สลักอยู่บนศิลาแลงเมื่อ พ.ศ 2529 ที่ฝ่าพระบาทสลักรูปธรรมจักรนูนทั้งสองข้าง แสดงถึง นัยของล้อเกวียนที่ธรรมะมาสู่ชุมชนและยังมีการสลักรูปกากบาท โดยตรงกลางมีหลุมสำหรับใช้ปักเสา สันนิษฐานว่ามีไว้เพื่อปักฉัตรหรือร่ม
รอยพระพุทธบาทคู่นี้คาดว่าสร้างครั้งแรกสมัยทวารวดีถึงสมัยลพบุรี นับเป็นรอยพระพุทธบาทที่ใหญ่และเก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย ปัจจุบันมีการสร้างหลังคาครอบเอาไว้อย่างถาวร ประชาชนนิยมมากราบไหว้รอยพระพุทธบาทคู่แห่งนี้เป็นอย่างมาก ในบริเวณเดียวกันมีร่องรอยที่ยังหลงเหลือของปราสาทขอม ซึ่งปราสาทหลังนี้สันนิษฐานว่าไม่ได้มีความสำคัญหรือเกี่ยวข้องกับการประดิษฐานเทวรูปของเทพในฮินดู แต่ใช้ในการเป็นอโรคยาศาลหรือโรงพยาบาล รูปแบบของอโรคยาศาลสันนิษฐานว่าเริ่มมีการก่อสร้างในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ซึ่งเป็นสมัยบายนเป็นยุคก่อนการล่มสลายของอาณาจักรขอม ก่อสร้างด้วยศิลาแลงและตั้งอยู่ใกล้สระน้ำใหญ่ ก่อนเข้าสู่ตัวอาคารจะมีบ่อน้ำขนาดเล็กอยู่ด้านหน้า เรียกว่า "บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์" ในกลุ่มอาคารเดิมจะมีปรางค์ประธาน ซึ่งจะประดิษฐานพระโพธิ์สัตว์ไภสัชยคุรุไวทูรย์ประภา ด้านข้างสองข้างจะมีห้องสำหรับเก็บตำราหรือคัมภีร์รักษาโรคอยู่ด้วย บริเวณทั่วไปจะมีเศษของศิลาแลง รูปแบบต่างๆ เช่น พญานาค เสานางเรียง และพบพระพุทธรูปและโบราณวัตถุเป็นจำนวนมาก นอกจากนั้นยังมี "สระมรกต" เป็นสระน้ำรูปสี่เหลี่ยมพื้นผ้า มีขนาดกว้างประมาณ 115 เมตร ยาว 214 เมตร ลึก 3.50 เมตร มีพื้นที่ประมาณ 25 ไร่ สันนิษฐานว่าขุดขึ้นมาเพื่อใช้เป็นแหล่งน้ำ และได้นำศิลาแลงไปใช้เป็นสถาปัตยกรรม

บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์


พญานาค
นอกจากสระมรกตแล้วยังมี " สระบัว " และ " ศูนย์นิทรรศการให้ความรู้เกี่ยวกับโบราณสถานเมืองศรีมโหสถ " ศูนย์นิทรรศการให้ความรู้เกี่ยวกับโบราณสถานเมืองศรีมโหสถ จะจัดแสดงโบราณวัตถุที่ค้นพบในบริเวณนั้นที่สำคัญ เช่น จารึกเนินสระบัว เป็นจารึกหินทรายขาว ขนาดกว้าง 40 ซม. ยาว 177 ซม. จังหวัดปราจีนบุรีได้ใช้สถานที่แห่งนี้จัดงาน " มาฆปูรมีศรีปราจีน " เป็นประจำทุกปี

ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น